โรคอ้วน

7 ธันวาคม 2023

เกิดจากร่างกายมีการสะสมไขมันใต้ชั้นผิวหนังมากกว่าปกติ ซึ่งจะคิดตามน้ำหนักตัว คำนวนโดยใช้ดัชนีมวลกาย (BMI) BMI = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม/(ส่วนสูงเป็นเมตร)ยกกำลังสอง มีหน่วยเป็น kg/m2 หากมีค่า B

พญ.ปฏินุช เย็นรมภ์ (อายุรศาสตร์และตจวิทยา)
เกิดจากร่างกายมีการสะสมไขมันใต้ชั้นผิวหนังมากกว่าปกติ ซึ่งจะคิดตามน้ำหนักตัว  คำนวนโดยใช้ดัชนีมวลกาย (BMI)
BMI = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม/(ส่วนสูงเป็นเมตร)ยกกำลังสอง     มีหน่วยเป็น kg/m2 
หากมีค่า BMI มากกว่า 25 kg/m2   จัดว่าเป็นโรคอ้วน
แต่หากเจ้าไขมันที่สะสมตามร่างกายนี้ส่งผลถึงระบบอวัยวะภายในร่างกาย จะเรียกว่า โรคอ้วนลงพุง ซึ่งมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้
มีภาวะอ้วน โดยวัดจากเส้นรอบเอว ในผู้หญิงตั้งแต่ 80 เซ็นติเมตร ส่วน ผู้ชายตั้งแต่ 90 เซ็นติเมตร ร่วมกับมีภาวะมากกว่า2ใน4ข้อดังต่อไปนี้
ความดันโลหิตสูงมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูงมากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  ระดับไขมันดี (HDL) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ชาย และต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง
แพ็คเกจเหล่านี้นั่นเองที่เรียกว่าโรคอ้วนลงพุง ซึ่งหาไม่ได้จากการอยู่นิ่งเฉยหรือจากกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่ถูกซ้ำเติมด้วยการกินอยู่อย่างเร่งรีบและไม่ไตร่ตรองในโลกยุคปัจจุบันทันด่วนนี้  ซึ่งโรคอ้วนลงพุง เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไขมันสะสมที่หน้าท้องและมีรอบเอวขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีระดับความดันโลหิต มีระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น  โรคเบาหวานชนิดที่2  โรคไขมันเกาะตับ โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ได้มากขึ้น ซึ่งโรคร้ายแรงเหล่านั้น จัดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ติดอันดับของสาเหตุการเสียชีวิต10อันดับแรกที่จัดโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ของประเทศไทย
โดยอุบัติการณ์การเกิดโรคอ้วนลงพุงเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ทั้งนี้เนื่องมาจากการบริโภคที่เกินความจำเป็นและไม่ถูกหลักโภชนาการ ดังนั้น หากยังไม่ได้รับการวินิจฉัย จึงควรป้องกันไม่ให้เกิดโรคอ้วน โดยการรับประทานอาหารให้พอเหมาะกับความต้องการและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน 
นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนลงพุงได้มากกว่าบุคคลทั่วไป เช่น   ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีโรคอ้วนลงพุงหรือเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2, ผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) หรือผู้ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากมีภาวะเหล่านี้ ควรป้องกันและระมัดระวังเป็นพิเศษ
       แต่หากได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคอ้วนลงพุงแล้ว เป้าหมายของการรักษา คือ การลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ด้วยการลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต ซึ่งอาจปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้ 
  ปรับวิธีการรับประทานอาหาร โดยเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง และหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปต่างๆที่เต็มไปด้วยผงชูรสและเกลือปริมาณมาก
2.ลดน้ำหนัก และควบคุมให้น้ำหนักอยู่ในช่วงดัชนีมวลกาย 18.5-24.9
kg/m2 
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายและการใช้พลังงาน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย ควรออกกำลังกายชนิด แอโรบิก ( aerobic exercise ) เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก อย่างต่อเนื่อง30นาทีต่อครั้ง อย่างน้อย 150นาทีต่อสัปดาห์
ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ด้วยการงดสารเสพย์ติดต่างๆรวมทั้งบุหรี่ 
หากปฏิบัติอย่างต่อเนื่องแล้วไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า
 
ที่มา
รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากร พ.ศ. 2557 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)
2013 AHA/ACC/TOS Guideline for obesity
Guy-Grand B. A new approach to the treatment obesity. A discussion Annals of the New York Academy of Sciences 1987
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​ | นโยบายคุกกี้ (Cookies Policy)​​